ยูทูบเบอร์โวย! ไมโครซอฟท์ใช้ AI ตรวจจับคลิปที่มีคำว่า “hacked” หรือ “client” แล้วแจ้งละเมิดลิขสิทธิ์กับยูทูบทันที

ทั้งที่คลิปนั้นไม่ได้ละเมิด EULA ของไมน์คราฟต์แต่อย่างใด

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ผู้ใช้ Reddit ที่ชื่อ cydedotxyz ได้โพสต์ข้อความอ้างว่า ไมโครซอฟท์ได้ใช้ AI บางอย่างในการตรวจจับคลิปบนยูทูบที่มีคำว่า “hacked” หรือ “client” แล้วแจ้งกับยูทูบทันทีว่าคลิปนั้นละเมิดลิขสิทธิ์ (copyright strike) ทำให้คลิปเหล่านั้นถูกปิดการเผยแพร่และอาจถูกลบออกจากยูทูบ

ยูทูบเบอร์ไมน์คราฟต์ Phoenix SC ได้กล่าวว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องจริง เพราะจากการสอบถามเพื่อนของตนจากช่อง PatarHD พบว่า คลิปของเพื่อนนั้นถูกแจ้งละเมิดลิขสิทธิ์จากไมโครซอฟท์แล้ว เนื่องจากในคลิปมีการพูดคำว่า “hacked client” แต่เขาก็ได้ยื่นอุทธรณ์ (appeal) ไปแล้ว ทำให้คลิปกลับมาเผยแพร่ได้ตามเดิม

PatarHD ทวีตว่าโดนแจ้งละเมิดลิขสิทธิ์จากไมน์คราฟต์ (ไมโครซอฟท์)

นอกจากนี้ ยูทูบช่อง Itsme64 ยังรายงานว่า คลิปจากช่องของตนก็ถูกแจ้งละเมิดลิขสิทธิ์เช่นกัน เนื่องจากมีการนำเสนอเนื้อหา “hacked client” แต่เขาก็ได้ยื่นอุทธรณ์กับยูทูบไปแล้วทำให้คลิปของเขากลับมาเผยแพร่ได้เหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม คลิปอื่นของเขาก็ยังถูกแจ้งละเมิดลิขสิทธิ์เข้ามาอีก ทำให้เขาต้องปรับการเผยแพร่คลิปที่เหลือเป็นส่วนตัว เพราะกลัวจะถูกแจ้งอีก

Itsme64 ได้รับอีเมลจากยูทูบว่าคลิปของตนถูกแจ้งละเมิดลิขสิทธิ์

ระบบแจ้งละเมิดลิขสิทธิ์ของยูทูบน่ากลัวอย่างไร?

สิ่งที่น่ากลัวของการถูกแจ้งละเมิดลิขสิทธิ์ คือ ช่องที่ถูกแจ้งละเมิดลิขสิทธิ์ครบ 3 ครั้ง (Three-Strike) ช่องนั้นจะถูกลบ และบัญชีจะถูกแบน ซึ่งหมายความว่าคลิปทั้งหมดในช่องเราจะหายไป และเราจะไม่สามารถสร้างช่องใหม่โดยใช้ชื่อเดิมได้อีก

อีกทั้งระบบแจ้งละเมิดลิขสิทธิ์ของยูทูบยังเป็นในลักษณะ “ลงโทษก่อน ค่อยพิสูจน์ทีหลัง” ทำให้เมื่อถูกแจ้งละเมิดลิขสิทธิ์ จะถือว่าเรามีความผิดแล้ว อย่างไรก็ดี เราสามารถพ้นผิดได้โดยใช้วิธีใดวิธีหนึ่งต่อไปนี้

  1. ยอมรับและรอพ้นโทษภายใน 90 วัน
  2. ขอให้เจ้าของลิขสิทธิ์ถอนการแจ้ง
  3. ยื่นอุทธรณ์ต่อยูทูบพร้อมอธิบายว่าเราไม่ได้มีความผิด

(หมายเหตุ: เราอาจใช้วิธีที่ 2 กับ 3 พร้อมกันก็ได้)

หากเราถูกแจ้งละเมิดลิขสิทธิ์เข้ามาอีก 2 ครั้งในระหว่างที่ยื่นอุทธรณ์ข้อกล่าวหาในครั้งแรก มีสิทธิ์สูงมากที่ยูทูบจะทบยอดว่าเราละเมิดลิขสิทธิ์ครบ 3 แล้ว และจะถูกลบช่องได้ เพราะการยื่นอุทธรณ์ครั้งแรกยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ทำให้เรายังมีความผิดในครั้งแรกอยู่

นอกจากนี้ Itsme64 ยังชี้ว่า บางทีเมื่อยื่นอุทธรณ์ไปแล้ว ยูทูบกลับให้คำตอบที่งงและไม่รู้ว่าหมายความว่าอย่างไร เช่น “วิดีโอของคุณถูกกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์เกมของไมโครซอฟท์…แต่คำอธิบายของคุณดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับงานของผู้ร้องเรียน” ทั้ง ๆ ที่เขาก็อธิบายไปแล้วว่าคลิปนั้นเป็นการนำเสนอม็อดไมน์คราฟต์ คำอธิบายนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับไมน์คราฟต์ (งานของผู้ร้องเรียน) ได้อย่างไร? ทำให้การอุทธรณ์กินเวลานานกว่าที่ควร

แล้วการใช้แฮ็กผิดกฎไมน์คราฟต์ (EULA) ไหม?

จาก EULA ของไมน์คราฟต์ระบุว่า “Mods are okay to distribute; hacked versions or Modded Versions of the game client or server software are not okay to distribute.” (ม็อดสามารถแจกจ่ายได้ แต่ไคลเอนต์เกมหรือซอฟต์แวร์เซิร์ฟเวอร์ในแบบที่มีแฮ็กหรือมีการดัดแปรไม่สามารถแจกจ่ายได้)

EULA เกี่ยวกับการใช้ม็อด

หากมองเผิน ๆ อาจตีความว่า ไมโครซอฟท์ไม่อนุญาตให้ใช้แฮ็ก ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่แบบนั้น Phoenix ชี้ว่าประโยคดังกล่าวควรจะตีความว่า ไมโครซอฟท์ห้ามผู้เล่นใช้แฮ็กเพื่อทำให้เล่นเกมได้ฟรีแล้วนำตัวเกมพร้อมแฮ็กเหล่านั้นไปแจกจ่าย พูดง่าย ๆ ก็คือห้ามแคร็กเกม (crack) แล้วเอาไปแจกต่อ

(crack = ทำให้เข้าใช้โปรแกรมได้ฟรีโดยไม่เสียเงิน ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์)

คลิปส่วนใหญ่ที่ถูกแจ้งละเมิดลิขสิทธิ์มิได้ทำการแคร็กเกมแล้วนำไปแจกจ่ายต่อ แต่เป็นการนำเสนอม็อดให้ผู้เล่นได้รับรู้ อีกทั้งม็อดบางอย่างผู้เล่นก็นิยมเรียกว่า ‘แฮ็ก’ เพราะการใช้งานที่ค่อนข้างโกง ซึ่งก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแคร็กเกมแต่อย่างใด

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า คลิปส่วนใหญ่นั้น “ไม่ได้ละเมิด EULA” การที่ไมโครซอฟท์ใช้ AI ตรวจแล้วแจ้งละเมิดลิขสิทธิ์โดยทันทีเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและสร้างความลำบากให้กับครีเอเตอร์ ซึ่งขัดแย้งกับจุดประสงค์ของเกมที่ต้องการสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ของผู้เล่น

เราจะแก้เกม AI อย่างไร?

Phoenix แนะนำว่า ในกรณีที่โดนแจ้งละเมิดลิขสิทธิ์ ให้รีบยื่นอุทธรณ์ทันที เพราะตอนนี้คนที่โดนส่วนใหญ่ได้คลิปคืนมาแล้ว แสดงว่าอัตราการอุทธรณ์สำเร็จค่อนข้างสูง ให้ยื่นเรื่องทุกทางเท่าที่จะทำได้ ทั้งยื่นกับยูทูบและไมโครซอฟท์

ส่วนคนที่ยังไม่โดนแนะนำว่า ถ้าทำคลิปเกี่ยวกับ ‘hacked client’ ให้พยายามหลีกเลี่ยงการพูดว่า “free hacked client” และคำพูดที่ส่อว่าจะแจกเกมฟรี เพราะ auto subtitle ของยูทูบอาจถอดคำผิดและ AI ก็ตรวจจับเจอ อาจทำให้โดนแจ้งละเมิดลิขสิทธิ์ได้

สุดท้าย Phoenix ฝากไปถึงว่าไมโครซอฟท์ว่า ให้นิยามคำว่า “hacked/modded version” ใน EULA ให้ชัดเจนว่าหมายถึงสิ่งใด เพราะมีผู้เล่นจำนวนที่ใช้ม็อดและแฮ็ก คนที่ทำคลิปเกี่ยวกับม็อดอาจเป็นผู้บริสุทธิ์ และไม่สมควรถูกแจ้งละเมิดลิขสิทธิ์ตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ

อ้างอิง

Picture of Suprem

Suprem

แบ่งปันเรื่องราว

Scroll to Top