เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา ยูทูบเบอร์ไมน์คราฟต์ SalC1 ได้อัปโหลดวิดีโอ “I DIDN’T Migrate my Minecraft Account – Here’s What Happened” โดยกล่าวว่าตัวเองได้ลองซื้อไมน์คราฟต์ใหม่ด้วยบัญชีโมแจงในช่วงเวลาที่ยังทำได้ และไม่ได้โยกย้ายไปเป็นบัญชีไมโครซอฟท์จนเลยเดดไลน์ เพื่อทดลองว่าจะเกิดอะไรขึ้นและจะขอโยกย้ายในภายหลังได้หรือไม่ โดยผลลัพธ์ที่ได้ไม่เป็นที่พอใจต่อเขาเป็นอย่างมาก
ไล่เรียงเหตุการณ์จากคำบอกเล่าของ SalC1
1- เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2020 ไมน์คราฟต์ได้ประกาศถึงการโยกย้ายบัญชีโมแจงไปเป็นบัญชีไมโครซอฟท์ จึงทำให้ 4 วันต่อจากนั้น SalC1 หรือ Salvatore Cracchiolo ยูทูบเบอร์ไมน์คราฟต์ชาวอเมริกัน (ต่อจากนี้ขอเรียกว่า Sal) ได้ลองซื้อไมน์คราฟต์ด้วยบัญชีโมแจงเพื่อใช้ทดลองกระบวนโยกย้ายในครั้งนี้
2- Sal กล่าวว่าในช่วงเวลานั้น ไมน์คราฟต์ที่ใช้บัญชีโมแจงดังกล่าวสามารถเข้าเล่นได้ตามปกติ แต่หลังจากเดือนธันวาคม 2020 การซื้อไมน์คราฟต์ด้วยบัญชีโมแจงก็ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป
3- หลังจากนั้นโมแจงได้ประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2022 เป็นต้นไป ไมน์คราฟต์ที่ใช้บัญชีโมแจงจะไม่สามารถเข้าเล่นเกมได้อีก แต่ Sal ก็ยังสามารถเข้าเล่นได้ตามปกติโดยใช้ลันเชอร์เก่าที่ไม่มีการอัปเดตอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม 5 เดือนต่อมา บัญชีดังกล่าวก็ไม่สามารถเข้าเล่นโหมดผู้เล่นหลายคนได้ เพราะไม่สามารถยืนยันตัวตนกับเซิร์ฟเวอร์ได้
4- ในขณะเดียวกัน Sal ได้อีเมลเตือนหลายฉบับจากโมแจงให้โยกย้ายบัญชี โดยแจ้งเดดไลน์เป็นวันที่ 19 กันยายน 2023 แต่เขาก็เลือกที่จะไม่สนใจและรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น
5- เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2023 มาถึง การโยกย้ายบัญชีได้สิ้นสุดลงและไม่สามรถโยกย้ายบัญชีได้อีกต่อไป อย่างไรก็ดี โมแจงได้ยื่นขอเสนอว่าสามารถขอรับบัญชีใหม่พร้อมกับตัวเกม Java & Bedrock Edition ได้ภายใน 90 วัน ซึ่งเขาก็เลือกที่จะไม่สนใจและดำเนินการทดลองต่อไป
6- หลังจากผ่านไป 90 วัน (18 ธันวาคม 2023) Sal ได้ทราบว่าบัญชีของตนไม่สามารถโยกย้ายและก็ไม่สามารถขอรับบัญชีใหม่ได้ แต่เขาก็ไม่ยอมแพ้ เขาได้ติดต่อไปที่ Minecraft Support เพื่อดูว่าจะสามารถกู้คืนบัญชีได้หรือไม่
7- แต่แล้วเขาก็ได้รับข้อความอัตโนมัติตอบกลับมาว่า “ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2023 เป็นต้นไป Minecraft Support ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการเข้าสู่ระบบด้วยบัญชีโมแจงหรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับบัญชีได้อีก เนื่องจากการโยกย้ายบัญชีได้สิ้นสุดลงแล้ว”
8- Sal กล่าวว่านี่ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของเรื่องนี้ เพราะเขาได้พบว่าใน Minecraft EULA ข้อ 8 (เป็นลิงก์ของ Nintendo Switch) มีระบุถึง “การอนุญาโตตุลาการ” (arbitration)* ซึ่งเขามองว่าสามารถใช้ข้อนี้ในการเรียกร้องได้
Minecraft EULA ดังกล่าว https://www.minecraft.net/en-us/terms/nintendo-switch
* อ้างอิงจากสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC) “การอนุญาโตตุลาการ” คือ กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกชนิดหนึ่งที่อนุญาตให้คู่พิพาทสามารถยุติปัญหาด้วยคำตัดสินของบุคคลที่สาม (เรียกว่า อนุญาโตตุลาการ) แทนศาลหรือผู้พิพากษาได้ โดยกระบวนการนี้เป็นที่แพร่หลายในต่างประเทศ เนื่องจากมีต้นทุนต่ำกว่า ใช้เวลาน้อยกว่า และมีความหยืดยุ่นเป็นกันเองมากกว่า ทั้งนี้ การอนุญาโตตุลาการในประเทศไทยสามารถทำได้ภายใต้ พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545
อ่านเพิ่มที่
https://thac.or.th/th/ทำความเข้าใจ-สถาบันอนุ/
https://thac.or.th/th/การอนุญาโตตุลาการคืออะ/
9- แม้ว่าจะใช้กระบวนการดังกล่าวได้ แต่โดยปกติอนุญาโตตุลาการ (arbitrator) ในสหรัฐมีค่าดำเนินการอยู่ระหว่าง 1,000-2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ซึ่งสูงกว่ามูลค่าของเกมไมน์คราฟต์ที่มีราคา 26.95 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ Sal คิดว่าไม่คุ้มที่จะใช้วิธีนี้
10- อย่างไรก็ดี ใน Minecraft EULA ข้อ 8 ยังได้ระบุทางเลือกไว้ให้เราสามารถส่ง “หนังสือบอกกล่าวข้อพิพาท” (Notice of Dispute) ไปที่ไมโครซอฟท์ เพื่อร้องเรียนและบอกความต้องการของเราได้ในกรณีที่ Customer Service ไม่ได้สามารถแก้ปัญหาให้เราได้
11- Sal จึงได้ส่งหนังสือบอกกล่าวข้อพิพาทโดยระบุถึงความต้องการของตนไว้ 3 ทางเลือกดังต่อไปนี้
- ให้โยกย้ายบัญชีของตนไปเป็นบัญชีไมโครซอฟท์เพื่อให้สามารถเข้าเล่นไมน์คราฟต์ได้
- ให้บัญชีใหม่เพื่อเข้าเล่นไมน์คราฟต์ โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม
- คืนเงินที่เขาใช้ซื้อเกมในจำนวน 26.95 ดอลลาร์สหรัฐ ในรูปแบบเช็กหรือธนาณัติ
12- ผ่านไป 14 วันหลังจากการส่งหนังสือ เขาได้รับอีเมลตอบกลับจากไมโครซอฟท์ว่า “หลังจากการทบทวนกรณีดังกล่าวกับทีมโมแจง พวกเขายืนยันว่า เนื่องจากช่วงเวลาการโยกย้ายได้สิ้นสุดลงแล้ว จึงไม่มีวิธีใดที่จะสามารถโยกย้ายบัญชีของคุณได้…ขอเชิญชวนให้คุณรับไมน์คราฟต์ผ่านบัญชีไมโครซอฟท์เพื่อจะได้เพลิดเพลินกับเกมต่อไป”
13- Sal กล่าวประชดกับข้อความนี้ว่า “ทำไมไม่บอกเขามาเลยล่ะว่า ‘โทษทีเจ้าบื้อ! ต้องซื้อเกมใหม่ว่ะ XD’ “ เขายืนยันว่าตัวเองได้จ่ายเงินซื้อเกมนี้มาแล้วเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ทำไมต้องให้เข้าจ่ายเงินเพื่อซื้อเกมใหม่อีก คำว่า “ซื้อ” ไม่มีความหมายอะไรเลยหรือ
14- เขาได้ลองพยายามอีกครั้งด้วยการส่งคำร้องเรียนไปที่ Better Business Bureau (BBB) องค์การไม่แสวงหากำไรซึ่งช่วยเหลือผู้บริโภคและธุรกิจในสหรัฐและแคนาดา โดยไมโครซอฟท์ก็ได้รับเรื่องและอ้างถึงหนังสือบอกกล่าวข้อพิพาทของเขาแล้ว แต่ก็ตอบกลับมาด้วยแพทเทิร์นเดิม ๆ เหมือนในอีเมล
15- Sal ไม่ยอมรับในคำตอบนี้ เขากล่าวว่าตัวเองได้ซื้อใบอนุญาต (license) ในการเล่นไมน์คราฟต์มาแล้ว ความคาดหวังของเขาคือต้องสามารถเล่นได้อย่างไม่จำกัดเวลา ไม่เคยมีการบอกว่าการไม่มีความเคลื่อนไหว (inactivity) ในบัญชีจะนำไปสู่การเพิกถอนสิทธิ์นี้ได้
16- เขาได้ยื่นทางเลือกไปแล้วถึง 3 ทาง แต่บริษัทก็ยังเพิกเฉยและไม่มีการเยียวยาใด ๆ การยึดคืนสินค้าเพียงเพราะลูกค้าไม่ได้ใช้เป็นระยะเวลานาน เป็นการดำเนินธุรกิจที่หลอกลวงและห่วยแตก กรุณาลงมือทำอะไรสักอย่างที่เป็นจริงเป็นจังด้วย มิเช่นนั้น เขาจะดำเนินการที่รุนแรงขึ้นไปกว่านี้ (ซึ่งก็คือการปล่อยคลิปนี้)
17- อย่างไรก็ตาม Sal ก็ไม่ได้รับคำตอบใด ๆ อีกเลยจากไมโครซอฟท์ เขาชี้ว่าการลบบัญชีที่ไม่ได้โยกย้ายทิ้งไปเลยเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เขาเชื่อว่ายังมีอีกเป็นหมื่นเป็นแสนบัญชีที่ยังไม่ได้โยกย้ายและต้องหายไปตลอดกาล
18- อาจมีคนบอกว่า “มีเวลาตั้ง 3 ปี โดนลบบัญชีไปก็สมควรแล้ว” แต่ Sal กลับไม่คิดเช่นนั้น เขาบอกว่า “ชีวิตก็ไม่แน่นอน บางทีคุณก็แค่เบื่อ ๆ ไมน์คราฟต์ไป 3 ปี แต่ต่อมาก็ตัดสินใจกลับมาเล่นแล้วพบว่า บัญชีของคุณถูกลบไปแล้ว เป็นการบังคับให้ผู้เล่นเก่าต้องซื้อเกมใหม่โดยไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกจากการขอโทษแล้วบอกว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องทำ หัวหมอไปมั้ย”
19- Sal ยังโต้ประเด็นนี้ด้วยว่า ให้เปรียบเทียบกับกรณีของยูทูบ กูเกิ้ลได้เข้าซื้อยูทูบและให้บัญชียูทูบโยกย้ายไปเป็นบัญชีกูเกิ้ล แต่ถ้าหากตอนนี้คุณยังมีบัญชียูทูบเก่าอยู่ คุณก็ยังสามารถโยกย้ายได้ ยูทูบเป็นบริการฟรียังทำได้ แต่บริการเสียเงินอย่างไมโครซอฟท์กลับทำไม่ได้
20- สรุปในกรณีของ Sal คือ เมื่อเลยเวลาโยกย้ายแล้ว ไม่สามารถขอโยกย้ายได้อีก เสมือนว่าบัญชีของเขานั้นได้ถูกลบออกจากระบบไปแล้ว โดยหากต้องการเล่นต่อ ต้องซื้อเกมใหม่ ทั้งนี้ บัญชีหลักของ Sal ได้โยกย้ายไปหมดแล้ว ในคลิปนี้จึงไม่ใช่การเรียกร้องเพื่อบัญชีหลักของเขา แต่เพื่อบัญชีทดลองที่เขาไม่ได้โยกย้าย
คลิปของ SalC1: https://www.youtube.com/watch?v=rUFDRAEducI
ซื้อในโลกอะนาล็อก ≠ ซื้อในโลกดิจิทัล
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เราต้องกลับมาตระหนักถึงการซื้อสินค้าและบริการดิจิทัล เช่น เกมในสโตร์ เพลงในแอปตรีมมิ่ง การสมัครสมาชิกแอป ฯลฯ เพราะสินค้าและบริการในรูปแบบนี้ไม่มีคำว่าตลอดไป เราไม่ได้เป็นเจ้าของอย่างแท้จริง เจ้าของยังถือคอนเทนต์ไว้กับตัว แต่ใช้การอนุญาตให้เราเข้าถึงคอนเทนต์เหล่านั้นแทน โดยที่เราไม่ได้ครอบครองคอนเทนต์นั้นจริง ๆ
ยูทูเบอร์สายไอที 9arm หรือ ธนานนท์ ปฏิญญาศักดิกุล เปรียบการ “ซื้อ” ในโลกดิจิทัลว่าเป็นการ “เช่าระยะยาว” เพราะเราไม่ได้เป็นเจ้าของในสินค้าอย่างแท้จริง เราเช่าคอนเทนต์ที่เราต้องการ โดยที่เจ้าของจะเพิกถอนสิทธิ์การเข้าถึงเมื่อไรก็ได้ เช่น หากเราซื้ออีบุ๊ก เราก็ไม่ได้เป็นเจ้าของหนังสือเล่มนั้นจริง ๆ (เว้นแต่จะได้เป็นไฟล์) เพราะเมื่อแพลตฟอร์มอีบุ๊กนั้นปิดตัวลง หนังสือของเราก็จะหายวับไปกับตา
ในทางกลับกัน การซื้อในโลกอะนาล็อก คือเราได้สินค้าในรูปแบบที่จับต้องได้ เช่น ตลับเทป ซีดี แผ่นเกม ฯลฯ กรณีนี้เราเป็นเจ้าของอย่างแท้จริงตราบเท่าที่เราสามารถเก็บรักษาสิ่งนั้นไว้ไม่ให้สูญสลายไปได้
9arm แนะนำว่า การซื้อสินค้าและบริการดิจิทัลควรระบุไว้ในสัญญาหรือเงื่อนไขการให้บริการอย่างชัดเจนว่าจะให้สิทธิ์การเข้าถึงถึงเมื่อไร หรือผู้ให้บริการจะสนับสนุนสินค้าและบริการนั้น ๆ จนถึงเมื่อไร และเมื่อถึงเวลานั้นแล้วผู้ให้บริการจะเยียวยาอย่างไร เช่น แจกไฟล์ ให้ฟรี หรือคืนเงิน เป็นต้น
การไม่ระบุไว้ชัดเจนทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าตัวเองสามารถเข้าถึงได้อย่างไม่จำกัดเวลาจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เพราะด้วยคำว่า “ซื้อ” เป็นการที่เราใช้เงินเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งของ สื่อว่าเราได้เป็นเจ้าของในสิ่งนั้นแล้ว แต่คำว่า “ซื้อ” ในโลกดิจิทัลเป็นการ “เช่าระยะยาว” โดยที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของในสินค้านั้นอย่างแท้จริง
ดูเพิ่มที่: https://www.youtube.com/watch?v=sKYVxltQWj8